คณะรัฐมนตรี ไฟเขียวมาตรการเยียวยาธุรกิจก่อสร้าง-ร้านอาหาร-ธุรกิจบันเทิงกลางคืน กรุงเทพและปริมณฑล 6 จังหวัด หลังจากมีคำสั่งให้ปิดแคมป์คนงาน-ผู้ประกอบการร้านอาหาร 1 เดือน เป็นจำนวนเงินกว่า 8.5 พันล้านบาท
วันนี้ (29 มิถุนายน 2564) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) แก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด กรุงเทพมหนาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง, กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร, กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ, กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือดังนี้

กลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
สำหรับผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท กรณีผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนจะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) รวมกับเงินกองทุนประกันสังคม วงเงิน 3,500 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท
ขณะที่โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้ดำเนินการตามแผนงานเดิมในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564
สำหรับมาตรการให้ความส่วนเหลือในระยะต่อไป มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณารูปแบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศต่อไป
โดย นายอนุชากล่าวถึง กิจการด้านอื่น ๆ ซ่อมแซมต่าง ๆ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สื่อสาร, โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน ซ่อมรองเท้า ซ่อมเครื่องหนัง ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมนาฬิกา ซ่อมเครื่องแต่กาย ซ่อมจักรยานยนต์สองล้อ ซ่อมเครื่องดนตรี ซ่อมเครื่องกีฬา นอกจากนี้กิจกรรม เช่น สปา ลดน้ำหนัก การแต่งผม-ดูแลความงาม แต่งเล็บมือ-เล็บเท้า ซักรีด กิจการดูแลต่าง ๆ ทั้งหมด ก็จะถือว่าอยู่กิจกรรมด้านอื่น ๆ ที่จะได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ด้วย