วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566

'ประยุทธ์' ปูทางยุบสภา เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ เร่งจัดงบปี67

'ผอ.สำนักงบประมาณ' เฉลิมพล เผยนายกฯ เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจวางกรอบงบปี 2567 เสนอ ครม.10 ม.ค.นี้ วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.93 แสนล้าน 


ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ได้เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567  ร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายเฉลิมพล เผยกรอบการจัดทำงบประมาณปี 2567 ว่าจะเป็นไปตามที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2565 ที่เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณระยะปานกลาง 2567-2570 โดยงบประมาณ 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลางที่ต้องการทำให้งบประมาณไปสู่สมดุลในที่สุด ประกอบไปด้วยรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% และมีหนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อจีดีพี

คาดว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1-2% ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.3-4.3% (ค่ากลาง 3.8%) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

นายเฉลิมพล กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2567 สำนักงบประมาณทำแผนรองรับปัจจัยการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดทำงบประมาณอาจล่าช้าออกไปจากที่กำหนดไว้ โดยมีการทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน ไว้เป็นเวลา 6 เดือน และหากล่าช้าออกไปก็ขยายระยะเวลาการใช้งบไปพลางก่อนออกไปได้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ครม.อาจต้องอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2567 ก่อนที่จะมีการยุบสภา เพื่อให้สำนักงบประมาณนำกรอบไปหารือกับส่วนราชการเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดยจะทำให้ส่วนราชการสามารถทำงบประมาณในระหว่างที่มีการเลือกตั้งได้ และเมื่อได้ ครม.ชุดใหม่เข้ามาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้เลยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้ง โดยเริ่มนับจากวันที่ 23 มี.ค.2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และ กกต.ประกาศกำหนดวันรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย.

ส่วนวันที่ 30 เม.ย.เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง และวันที่ 7 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยหลังจาก กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. 95% แล้ว ภายใน 15 วัน ให้เรียกประชุมรัฐสภา (รัฐพิธี) คาดว่าอยู่ระหว่างวันที่ 22-25 พ.ค. จากนั้นไม่เกิน 10 วัน (ไม่เกิน 5 มิ.ย.) ต้องเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ โดยหลังโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และรองประธานสภาฯ แล้วให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน ซึ่งในปี 2562 ใช้เวลาเพียง 10 วัน โดยมีประชุมสภา วันที่ 25 พ.ค.2562 และวันที่ 5 มิ.ย.2562 มีการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงคาดว่าครั้งนี้จะได้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่ภายในเดือน มิ.ย.2566

ที่มา โพสต์ทูเดย์ 

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ลูกค้าประกาศเลิกกิน "จ้อปูไส้ทะลัก"ทันที หลังเห็นสิ่งที่ใช้รัด

คดีพลิก เมื่อลูกประกาศเลิกกิน "จ้อปูไส้ทะลัก" ที่แม่ค้าใช้เชือกฟางรัด โดย "อ.เจษฎ์" ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ "อาหารที่มัดด้วยเชือกพลาสติก ควรเปลี่ยนเป็นเชือกธรรมดาครับ" 


หลังจากที่ "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลทางเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง by อาจารย์เจษฎ์ หลังพบอาหารที่มัดด้วยเชือกพลาสติกมีสารเคมีอันตราย โดยระบุข้อความว่า 

"อาหารที่มัดด้วยเชือกพลาสติก ควรเปลี่ยนเป็นเชือกธรรมดาครับ"

ไปเจอคลิปติ๊กต๊อกอันนี้มา นับว่าเป็นเรื่องดีเลยครับ คือเป็นของร้านที่ทำ "จ้อปูไส้ทะลัก" ขาย ซึ่งก่อนนี้เค้าใช้เชือกฟาง (ซึ่งก็ทำจากพลาสติกย้อมสี) มามัดจ้อปูก่อนเอาไปนึ่ง และลูกค้าก็มาคอมเม้นต์ว่า "เจอ เชือกฟาง เลิกอยากกินทันที" .... ทางแม่ค้าที่ร้านเลยเปลี่ยนไปใช้เชือกธรรมดา ฝึกผูกแทน ได้รับเสียงชืนชมจากลูกค้าอย่างมากเลยครับ

ซึ่งการเอาเชือกพลาสติก มารัดอาหารก่อนไปให้ความร้อนนั้น ผมเคยเตือนเอาไว้แล้วว่าไม่ควรทำ ตอนที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่อง "ไม่ควรเอาหนังยางวง มารัดผักต้ม" ครับ .... ดังนั้น ก็หวังว่าร้านอาหารอื่นๆ น่าจะเอามาเป็นแบบอย่างนะครับ

เอาบทความเก่าเรื่อง หนังยางวงรัดผักต้ม มารีโพสต์ให้อ่านกันครับ

บทความเก่าที่ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับการใช้หนังยางรัดผักต้ม แล้วลงไปต้ม ลงไปลวก อันตรายอาจจะเกิดโรคร้าย ระบุว่า...

ไม่ควรเอาหนังยางวง มารัดอาหารลงไปต้ม ได้รับคำถามมาจากนักข่าวช่อง PPTV ว่า ที่มีคำเตือนเกี่ยวกับการห้ามเอา "หนังยางวง" มารัดผัก รัดอาหาร ลงไปต้มในน้ำเดือด เช่น พวกผักต้มขายคู่กับน้ำพริกตามตลาดนัด เนี่ย มันอันตรายจริงใช่มั้ย ?

คำตอบก็คือ "จริง" ครับ ในหนังยางวง มีสารเคมีอันตรายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้อยู่หลายชนิด จึงไม่ควรเอาไปต้มให้โดนความร้อนโดยตรง แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยก็ตามครับ

ซึ่งตรงกับ อาจารย์อ๊อด รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เคยอธิบายไว้ในรายการข่าวเที่ยงช่องวันว่า หนังยางวงนั้น ทำจากยางพารา แล้วบดอัดผสมกับสารเคมีหลายชนิด เช่น พวกซัลเฟอร์ (กำมะถัน) เพื่อทำให้หนังยางมีความเหนียวและทนทาน แต่เมื่อถูกความร้อนมากกว่า 100 องศาเซลเซียส (เช่น ในน้ำต้มเดือด) จะทำให้สารเคมีในหนังยางปนเปื้อนมากับอาหารได้ หากกินเข้าไปจำนวนมาก หรือมีการสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จะเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

นอกจากนี้เพจ "เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว" ได้เคยอธิบายไว้โดยละเอียด สรุปได้ดังนี้

- หนังยางทำจากยางพาราธรรมชาติ แต่ก็มีสารเติมแต่ง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าสัมผัสกับอาหารที่ได้รับความร้อนโดยตรง

- ในกระบวนการผลิตนั้น จะมียางก้อนที่ได้จากต้นยางพารา แล้วใช้สารเคมีอื่น มาทำการเชื่อมขวาง (ครอสลิงค์ crosslink) เพื่อให้ใช้งานได้ในอุณหภูมิที่กว้างมากขึ้น และมีสมบัติเชิงกล (mechanical properties) ที่ดีขึ้น

- การครอสลิงค์ยางพารา หรือที่มีชื่อเฉพาะว่า “การวัลคาไนซ์” (vulcanization) มักใช้กำมะถัน (ซัลเฟอร์) เป็นตัวเชื่อมขวาง ทำให้มีความยืดหยุ่นที่ดี จากพันธะไดฟอสไฟด์ (disulfide bond (ในรูปของ -S-S-) หรือพันธะโพลีฟอสไฟด์ (polysulfide bond)

- นอกจากจะใช้กำมะถันแล้ว ยังมีการใช้สารกระตุ้นและสารเร่งปฏิกิริยา ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) /สารประกอบไดไธโอคาร์บาเมต (dithiocarbamate)/ ไธอาโซล (thiazole) /และไทยูแรม (thiuram)

- ไขมันในอาหารและความร้อนจากการประกอบอาหาร สามารถทำละลายสารต่างๆ เหล่านี้ ให้ออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ง่าย จึงควรต้องแกะหนังยางออกจากอาหารก่อน ที่จะนำไปประกอบอาหาร ไม่ให้หนังยางสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนโดยตรง

ปล. พวกเชือกฟาง จริงๆ ทำจากพลาสติกผสมสีครับ สารเคมีต่างๆ ก็มีสิทธิที่จะละลายออกมาด้วยน้ำและไขมันร้อนๆ ได้ จึงไม่ควรเอามารัดอาหารลงไปต้มไปทอดเช่นกันครับ

ที่มา www.thainewsonline.co, Tnews

กระแสดราม่า ฟิล์ม รัฐภูมิ(film rattapoom) ที่คนยังจำไม่ลืม

เส้นทางชีวิตในวงการบันเทิงและการเมืองที่ผ่านมาของ "ฟิล์ม รัฐภูมิ" มีเรื่องราวทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่มีผลกระทบอย่างหนักต่อช...